บทความพิเศษ
มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 กรกฎาคม 2558
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากมีการจับกุมดำเนินคดีนักศึกษา 14 คน ที่ออกมาประท้วงรัฐบาล คสช. ก็เริ่มมีกลุ่มคนหน้าเดิม ฉวยโอกาส ใช้วิธีเดิมๆ ในการปล่อยข่าวลวงออกมาเป็นชุดผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง
ถ้าเปรียบเป็นละครก็เหมือนละครซีรี่ส์(หลายตอน) ของเกาหลี ที่คาดหวังจะสร้างความรู้สึกร่วมหรืออารมณ์สะเทือนใจในหมู่ผู้ชมผู้ฟังจนได้รับความนิยมในแง่เรตติ้ง
ละครสะเทือนใจชวนตื่นตระหนกชุดแรก เป็นการนำคลิปปาฐกถาของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ คสช.) เอามารีเมก ยำใหญ่มั่วๆ แล้วนำมาเผยแพร่ใหม่ ราวกับว่าเป็นการพูดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทั้งที่เป็นคลิปเก่าที่ ดร.สมคิดพูดตั้งแต่ปลายปี 2556 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งรัฐบาลอยู่ในสภาพเป็ดง่อย บริหารประเทศไม่ได้
ผู้เผยแพร่ ได้เติมแต่งเนื้อหา ให้ตื่นตกใจ โดยอ้างคำพูด ดร.สมคิด ว่าประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงคล้ายปี 2540 และไม่เกินปลายปีนี้จะต้องรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ โดยอ้างว่าขณะนี้เกิดภาวะเงินฝืด (ในความเป็นจริงไม่ใช่) และการส่งออกก็ติดลบติดต่อกัน 5 เดือน (ความจริงส่งออกเกาหลีใต้ก็ติดลบ 5 เดือนติดต่อกันเหมือนกัน)
ที่น่าตกใจคือคนที่หลงเชื่อข่าวนี้ไม่ใช่แค่ชาวบ้านหรือคนระดับล่างแม้แต่คนจบปริญญาบางคน ยังดันหลงเชื่อ
ตอนต่อมาเป็นตอนที่ชื่อว่า "ป๋าเปรมถึงแก่อสัญกรรม" ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าเป็นฝีมือใคร ถ้าไม่ใช่พวกที่เคยรณรงค์ต่อต้านอำมาตย์อย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
ตอนล่าสุดชื่อ "ประยุทธ์ โอนเงินไปนอกหมื่นล้าน" ซึ่งนี่ก็เป็นกลยุทธ์ในการใช้เรื่องทุจริตมาดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ในตอนนี้ยังมีจุดแข็งเรื่องปราบคอร์รัปชั่น และกำลังไล่บี้ข้าราชการ-นักการเมืองโกง
นอกนั้นก็ยังมีพล็อตย่อยๆ รองลงไปอีก เช่นว่า อำมาตย์บงการให้ใส่ร้าย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง (น้องรักของคุณทักษิณ) ด้วยการยัดปืนไว้ในกระเป๋าเดินทางจนไปถูกจับขังคุกที่ญี่ปุ่น
นี่ก็เป็นการเอาอำมาตย์มาเป็นแพะรับบาปทุกเรื่องอีกจนได้ เหมือนที่คนกลุ่มนี้เคยทำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
นักวิชาการบางคนวิเคราะห์ว่าการที่รัฐบาลจับกุมนักศึกษา อาจทำให้คนที่เป็นกลางๆ หันหลังให้ คสช. และไปเข้ากับนักศึกษา
ฟังแล้วหลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนั้น คนที่เป็นกลางๆ ก็คงจะกลางๆ เฉยๆ ต่อไป ไม่หันหน้าหรือหันหลังให้ใครทั้งนั้น เพราะสถานการณ์ไม่ได้เหมือนยุค 14 หรือ 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาคม 2535 ถึงแม้บางคนพยายามจะโยนก้านไม้ขีดออกมา แต่คนส่วนใหญ่ก็แค่ต้อนรับด้วยน้ำเปล่า ไม่ใช่เบนซิน
ส่วนนักวิชาการซีกแดงบางคนก็ประกาศก้องอย่างดีใจว่า "จุดติด" แล้ว และมั่นใจว่าจะมีคนเข้าร่วมกับนักศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับกล่าวให้กำลังใจนักศึกษาผ่านจอคอมพิวเตอร์ว่าเป็นแนวทางที่เดินมาถูกต้องแล้ว
อันที่จริงการนำเอาบริบททางการเมืองแบบเดิมเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว มาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันที่มีบริบทแตกต่างออกไปมาก แล้วหวังผลลัพธ์แบบเดียวกันนั้น เห็นท่าจะยาก
เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว สังคมอยู่ใต้เผด็จการมายาวนานกว่า 10 ปีและประชาชนไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ ได้ประชาธิปไตยเมื่อไหร่ มองไม่เห็นอนาคต แต่ยุคปัจจุบันคณะรัฐประหารกำหนดโรดแม็ปไว้ชัดเจน ดังเช่นที่เคยทำให้เห็นมาแล้วในการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ความอึดอัดคับข้องใจจึงยังไม่ถึงระดับที่จะปะทุเป็นลาวาขึ้นมา
อย่าลืมว่าฝ่ายรัฐได้ผ่อนผันไปแล้วขั้นหนึ่งให้กับนักศึกษาที่ถูกจับกุมคือไม่คัดค้านการประกันตัว แต่นักศึกษาไม่ยอมประกันตัว แม้จะมีหลายหน่วยงาน รวมทั้งกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้แจ้งแก่นักศึกษาว่ายินดีจะนำเงินกองทุนยุติธรรมไปช่วยประกันตัว หากต้องการให้ช่วยขอให้แจ้งใช้สิทธิมา แต่นักศึกษาก็ไม่ยอมประกันเอง ซึ่งตรงนี้แหละที่สังคมจะใช้ดุลพินิจได้เอง
ด้วยเหตุนี้ แม้ใครจะจงใจโหมไฟ กระพือกระแสว่า รัฐบาลป่าเถื่อน เผด็จการ ทำกับนักศึกษาอย่างไร้เมตตา ไม่เห็นแก่อนาคตของเด็ก จึงอาจไม่สามารถโน้มน้าวให้สังคมคล้อยตามได้เท่าใดนัก
ขณะเดียวกันการที่แกนนำเสื้อแดงทั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือนักการเมืองพรรคเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง หรือ วัฒนา เมืองสุข ออกมาพูดโหนกระแสเรื่อง 14 นักศึกษา มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สังคมหวาดระแวงการเคลื่อนไหวของนักศึกษามากยิ่งขึ้น
เชื่อว่าพวกเจ้าเล่ห์หลายคนที่ออกมาสนับสนุนนักศึกษาในใจจริงอาจไม่อยากให้นักศึกษาออกมาจากคุกด้วยซ้ำไป เพราะนี่จะเป็นโอกาสให้ตัวเองฉวยไปใช้ประโยชน์เพื่อโจมตี คสช. ดังนั้น รัฐบาลและ คสช. ก็ต้องเล่นเกมนี้ให้เป็น คือรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ถ้าอีกฝ่ายอยากเล่นเกม รัฐบาลก็ต้องรู้เท่าทันเกมและเล่นเกมให้ถูกต้อง
เห็นหลายคนร้อนตัวออกมาแก้ต่างรับประกันว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลังนักศึกษา แต่สังเกตว่าบรรดาคนแก้ต่างก็ล้วนแต่สนับสนุนทางอ้อม คือถึงแม้ไม่ได้อยู่เบื้องหลังโดยตรง แต่ก็เข้าข่ายยุยงส่งเสริม ในทำนองต่อยอดโหมกระแสเพลิง เพราะตัวเองได้ประโยชน์ด้วย
ฝ่ายนักศึกษาเองเมื่อเห็นคนออกมาให้กำลังใจ ก็เกิดความรู้สึกฮึกเหิมจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ เท่ ตามประสาคนวัยนี้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่อยากออกมาจากห้องขัง ไม่ยอมประกันตัว
อย่างไรก็ตาม ถูกต้องแล้วที่ล่าสุดฝ่ายรัฐได้ยอมปล่อยตัวนักศึกษา โดยไม่ฝากขังอีก ซึ่งถือเป็นการแก้เกมที่ถูกต้อง เพราะอย่างน้อยการจับกุมและคุมขังไว้ระยะหนึ่ง ก็เป็นการปรามเพื่อป้องกันลัทธิเอาอย่างที่ฝ่ายรัฐกังวลได้ระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็ลดข้อครหาว่ารัฐใจร้ายเผด็จการ แม้ว่าจะเสี่ยงต่อการที่นักศึกษากลุ่มนี้จะได้ใจ ปฏิบัติการท้าทายอีกรอบก็ตาม และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหาเป็นกรณีไป อาจจะใช้วิธีว่าถ้าประท้วงเกินขอบเขตอีกก็จับอีก แล้วค่อยปล่อยใหม่ จนกว่าจะเหนื่อยกันไปข้างหนึ่ง
แต่สิ่งที่น่าหวาดเสียวกว่าก็คือหากนักศึกษากลุ่มนี้หลังออกมาจากคุกแล้วยังป่วนไม่หยุดหย่อนก็อาจจะมีคนอีกกลุ่มไม่พอใจ ออกมาต่อต้านบ้าง ซึ่งก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว จนอาจทำให้สถานการณ์กลับไปยุ่งเหยิงเหมือนก่อนรัฐประหาร
กรณีนักศึกษา อาจล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่รัฐบาลนี้อาจเสื่อมความนิยมจากสาเหตุ "สนิมเกิดแต่เนื้อในตน" หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ระมัดระวังในเรื่องอ่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณทางทหารโดยไม่จำเป็น ซึ่งล่าสุดได้แก่กรณีการเตรียมจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3.6 หมื่นล้านบาท
ในยามเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และในขณะที่รัฐบาลบอกว่าไม่สามารถจัดงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรได้ครบหมดเพราะไม่มีเงินหรือเงินไม่พอ แต่กลับมีเงินจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งไม่ได้จำเป็นต่อปากท้องของชาวบ้าน ถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะทำร้ายความรู้สึกของชาวบ้าน
หากไม่รีบยุติเรื่องนี้เชื่อว่าสังคม "มีเคือง" แน่ เพราะคนจะคิดว่า คสช. เข้าบริหารประเทศเพื่อถือโอกาสจัดสรรและอนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงของตัวเองเป็นของแถมหรือเปล่า
ดังนั้น การทำอะไรต้องรู้จังหวะเวลาที่เหมาะสม อ่านอารมณ์ของสังคมให้เป็น ทำเศรษฐกิจให้ดีกว่านี้เสียก่อน ค่อยพูดถึงการจัดซื้อสิ่งของชิ้นใหญ่ราคาแพง โดยเฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็นน้อยและไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
*****************
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437642595