เฟซบุ๊ก แฟนเพจ Bringcarmenhome ได้จัดทำแคมเปญพาคาร์เมนกลับบ้าน โดยเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของคู่รักร่วมเพศที่ต้องการพาลูกสาวที่เกิดจากการอุ้มบุญกลับอเมริกา โดย นายเลค และ นายมานูเอล คู่รักร่วมเพศชาวต่างชาติ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อที่จะหาหญิงชาวไทยมาเป็นแม่อุ้มบุญให้ ซึ่งทั้งคู่ได้เลือกใช้บริการจากบริษัทตัวแทนจัดการผสมเทียมชื่อดัง โดยใช้สเปิร์มของนายเลค และไข่ของผู้บริจาคคนไทยรายหนึ่ง
แม่อุ้มบุญชาวไทยตกลงและยินดีลงชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แทน และการเลี้ยงดูบุตรทั้งหมด รวมทั้งได้รับค่าตอบแทนสำหรับการอุ้มบุญแล้ว แต่หลังจากที่คาร์เมนคลอด ทั้งคู่จึงนัดแม่อุ้มบุญไปเจอที่สถานทูตอเมริกาพร้อมกับคาร์เมนที่อยู่ในความดูแลของทั้งคู่ เพื่อเซ็นเอกสารยินยอม แต่แม่อุ้มบุญกลับไม่มาตามนัดและดูเหมือนว่าจะไม่ให้ความร่วมมือในขั้นตอนพาคาร์เมนกลับบ้าน ตามที่ได้ตกลงไว้ก่อนหน้านี้
อีกทั้ง กฎหมายไทย ยังไม่รับรองการตั้งครรภ์แทน และถึงแม้ว่าจะมีบทบัญญัติชั่วคราว แต่ก็ไม่ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกัน จึงทำให้ทั้งคู่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากต้องหาทางพาลูกสาวกลับบ้านไปพร้อมๆ กัน
ด้าน แม่อุ้มบุญชาวไทย ได้ออกมาเปิดเผยในรายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 ยืนยันว่า ไม่ได้รังเกียจคู่รักร่วมเพศแต่อย่างใด ส่วนเหตุผลที่ไม่ไปเซ็นเอกสารตามนัดนั้น เนื่องจากว่าเจอเอกสารบางอย่างที่แสดงถึงการอุ้มบุญอีก 1 คน เกรงว่าจะเป็นขบวนการค้ามนุษย์ อีกทั้ง ระหว่างที่อุ้มบุญคู่รักร่วมเพศไม่เคยมาเยี่ยมลูกเลย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมือนคนที่อยากมีลูก และหลังจากคลอดเด็กทั้งคู่ก็ได้กีดกันไม่ให้เจอเด็กเลย พร้อมทั้งยังระบุว่า ยินดีคืนเงินให้ทั้งหมด ขอเพียงแค่ได้เลี้ยงลูกที่อุ้มบุญมาก็พอ เพราะเป็นห่วงความปลอดภัย
คลายสงสัย..พ่อแม่เป็นคู่รักร่วมเพศ ลูกมีโอกาสเกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ !?
หลายคนเกิดความสงสัยว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกัน มีโอกาสที่จะเลียนแบบพฤติกรรมตามพ่อแม่หรือไม่นั้น นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านกุมารเวชกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ตัวเด็กมีโอกาสเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและไม่มีโอกาส ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวเลี้ยงดูอย่างไร หากครอบครัวเลี้ยงดูดีและทำให้เด็กได้เรียนรู้ในบรรยากาศที่แตกต่างจากครอบครัวอื่นเด็กอาจไม่ได้เลียนแบบในพฤติกรรมทางเพศทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกันและเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กปกติ และจะทำให้ลูกเป็นเหมือนตัวเอง เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่จะรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่อย่างเดียว
ทั้งนี้ มี 2 ปัจจัย ที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ได้แก่ 1.ตัวของเด็ก คือ ยีนที่มีอยู่ในตัวเอง และ 2.สิ่งแวดล้อม ถ้ายีนที่เด็กได้รับมีโอกาสเบี่ยงเบนทางเพศ ต่อให้เลี้ยงดูดีก็มีโอกาสเบี่ยงเบนได้เยอะ ขณะเดียวกัน หากยีนที่ได้รับมาเป็นปกติตรงตามเพศ สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเด็กก็มีไม่เยอะ เพราะมี 2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้น สิ่งแวดล้อมเป็นแค่ปัจจัยเดียวไม่ใช่ทั้งหมด พ่อแม่ที่เลี้ยงดูก็เป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่งของเด็ก แต่สิ่งแวดล้อมยังมีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ในโรงเรียน เพื่อนบ้าน ญาติสนิทมิตรสหาย และอีกมากมายที่เป็นสิ่งแวดล้อมของเด็ก จึงมีโอกาสเป็นและไม่เป็นก็ได้
“เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมตั้งแต่ช่วงปีแรก สิ่งแวดล้อมรอบข้างจะทำให้เขาได้เรียนรู้และจดจำพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่มองเห็น แต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่จะทำให้เด็กเป็นแบบนั้น ถ้าพ่อเป็นผู้ชายสนิทกับลูกผู้หญิง ลูกจะต้องเป็นทอมก็คงจะไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด หรือแม่ที่เลี้ยงดูลูกผู้ชาย ลูกก็ไม่ได้เป็นกะเทยไปทั้งหมด เป็นแค่ส่วนเดียวของชีวิต ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เผย
ขณะที่ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.จุฬาฯให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า เด็กสามารถเลียนแบบได้ตลอดเวลา แต่จะเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมหรือการกระทำทั่วไป ไม่ได้เลียนแบบในเรื่องของความสนใจทางเพศ ไม่เกี่ยวว่าพ่อแม่เป็นรักร่วมเพศและโตขึ้นเด็กจะเป็นรักร่วมเพศตามพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นเกย์โดยธรรมชาติ ถึงแม้ว่าจะเลี้ยงดูอย่างดีก็ตาม เพราะรักร่วมเพศเกิดจากตัวของเด็กเอง ไม่ได้เกิดจากว่าการเลี้ยงดูที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
พ่อแม่เพศเดียวกัน ให้ความรักความอบอุ่นได้ ไม่ต่างจากครอบครัวอื่น
สำหรับการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ที่เป็นคู่รักร่วมเพศ นพ.พงษ์ศักดิ์ ให้คำแนะนำว่า“พ่อแม่ควรให้การเลี้ยงดูแบบปกติทั่วไป โดยต้องให้ความรู้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย และไม่ต้องอธิบายอะไรที่มากเกินความเข้าใจของเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นเขาจะค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น เด็กบ้านอื่นๆ มีแม่เป็นผู้หญิง แต่บ้านเรามีแม่เป็นผู้ชาย ซึ่งในความเป็นจริงพ่อแม่ก็สามารถให้ความรักและความอบอุ่นเลี้ยงดูเด็กได้ไม่แตกต่างจากบ้านอื่น เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากว่าทั้งพ่อและแม่ที่เป็นเพศเดียวกันเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กก็จะรู้ว่าบุคคลเพศเดียวกันมาเป็นพ่อแม่ก็ไม่ได้ทำให้มีความแตกต่างอะไรในชีวิตของตัวเขา ฉะนั้น พ่อแม่ไม่ต้องกังวล เลี้ยงลูกให้ความอบอุ่นเหมือนปกติ และก็อธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างเหมาะสมกับวัยก็พอ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีดังกล่าวเด็กจะอยู่ในความดูแลของใคร คู่รักร่วมเพศที่เป็นผู้ว่าจ้างหรือแม่อุ้มบุญชาวไทย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ร่วมค้นหาคำตอบของเรื่องนี้...
กฎหมายใหม่ คู่รักร่วมเพศอุ้มบุญไม่ได้ !?
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ ว่า แต่เดิมประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอุ้มบุญ มีเพียงประกาศของแพทยสภาที่ไม่อนุญาตให้แพทย์ไปทำอุ้มบุญให้กับคนในหลายลักษณะ ในเมื่อออกประกาศเช่นนั้นจะเอาผิดเฉพาะแพทย์ผู้กระทำการอุ้มบุญเท่านั้น ไม่สามารถจะไปเอาผิดกับผู้ว่าจ้างหรือแม่อุ้มบุญได้
กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเก่าที่ยังไม่มีกฎหมายอุ้มบุญออกมา ขณะที่ปัจจุบันมีกฎหมายอุ้มบุญออกมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถย้อนหลังในเรื่องที่ทำมาแล้วได้กฎหมายใหม่ภายในต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ผู้ที่เป็นคู่รักร่วมเพศจะอุ้มบุญไม่ได้โดยเด็ดขาดในประเทศไทย รวมทั้ง จะไปอุ้มบุญให้กับสามีภรรยาชาวต่างชาติทั้งคู่ไม่ได้ ต้องให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย
ทั้งนี้ กฎหมายจะบังคับให้ทำอุ้มบุญได้ไม่กี่กรณีเท่านั้น ได้แก่ 1.ชายหญิงชาวไทยแต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย 2.สามีภรรยาต้องมีคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย และต้องจดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี นอกจากนี้ แพทย์จะต้องลงความเห็นว่าครอบครัวนี้ไม่สามารถมีลูกได้แน่นอน เมื่อพิสูจน์ได้แล้วจะต้องหาญาติมาอุ้มบุญให้ หากพบว่าไม่มีญาติจึงสามารถหาหญิงชาวไทยคนอื่นมาอุ้มบุญแทนได้ โดยหญิงที่จะมาอุ้มบุญให้นั้น จะต้องเคยมีลูกมาก่อนแล้วเท่านั้น ฉะนั้น กรณีของคู่รักร่วมเพศ อยู่ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายอุ้มบุญ ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องคดีความในศาลต่อไป
ยึดตามกฎหมายเก่า สิทธิในการดูแลเด็กอยู่กับ...!?
ถ้ายังไม่มีกฎหมายรองรับ ใครจะเป็นผู้ดูแลเด็ก ครูหยุย อธิบายว่า กฎหมายแพ่งยังถือว่าลูกคลอดมาจากใครคนนั้นก็เป็นแม่ ไม่ได้พิจารณาว่าน้ำเชื้อหรือไข่เป็นของใคร ฉะนั้น ต้องยึดตามกฎหมายเก่า เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีฉีดเชื้อหรือกรรมวิธีเหล่านี้ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายอุ้มบุญ
“ถ้าเซ็นยินยอมก็ต้องพิสูจน์กันตามกฎหมาย กรณีดังกล่าวยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะต่างคนต่างพูด ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเชื้อเป็นของใคร เด็กอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้ทั้งนั้น ดังนั้น วิธีที่ทำให้รู้ความจริงต้องไปศาลเท่านั้น ศาลก็จะไปตรวจพิสูจน์ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศาล เหตุการณ์เกิดก่อนที่จะมีกฎหมาย และเมื่อกฎหมายออกก็ไม่สามารถย้อนหลังไปได้”
ขณะที่ นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ อธิบายในแง่มุมของกฎหมายไทยว่า สิทธิในการดูแลเด็กจะตกอยู่กับแม่อุ้มบุญ โดยกฎหมายจะใช้คำว่า ‘บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิง’ ส่วนฝ่ายคู่รักร่วมเพศผู้ว่าจ้างมีทางเดียว คือ ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์อย่างที่แม่อุ้มบุญได้เคยหวาดระแวงไว้.